เมื่อวันที่ 7 พ.ค.68 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีในการประชุม The 10th Multi-stakeholder Forum on Science, Technology and Innovation for the Sustainable Development Goals (STI Forum 2025) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6–8 พฤษภาคม 2568 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ หรือ UN นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยปีนี้จัดขึ้นในวาระครบรอบ 10 ปีของ STI Forum ภายใต้หัวข้อหลัก “Harnessing Science and Technology for the Effective Delivery of Sustainable, Resilient, and Innovative Solutions” โดยมีรัฐมนตรีหรือผู้บริหารระดับสูงจาก 19 ประเทศ เข้าร่วม
น.ส.ศุภมาส ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมฯ ดังกล่าว ว่า ความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการประกาศจุดยืนและความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science, Technology, and Innovation: STI) เป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เสริมสร้างสังคมที่ยืดหยุ่น ครอบคลุม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่อนาคต โดยในปีนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technologies) และการดำเนินนโยบายเฉพาะด้าน เพื่อเร่งรัดความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมสุขภาพ การเสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนของระบบนิเวศทางทะเล และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ อีกทั้งยังได้ดำเนินการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัล และส่งเสริมนวัตกรรมทางการแพทย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศด้านสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 3 (SDG 3) โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงและคุณภาพของบริการสุขภาพทั้งในประเทศและสำหรับพันธมิตรระหว่างประเทศ
รมว.อว. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 5 (SDG 5) ประเทศไทยได้ขยายการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการฝึกอบรมทักษะสูง โดยเน้นที่การเสริมพลังสตรีผ่านการศึกษาและการฝึกทักษะใหม่ที่ครอบคลุม เราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ปัจจุบันมีสตรีกว่าครึ่งหนึ่งเป็นกำลังคนด้านการวิจัยของประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และยังมีการดำเนินการภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 8 (SDG 8) โดยเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างบุคลากรที่มีทักษะสูงในสาขาเทคโนโลยีสำคัญ อาทิ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาทักษะระดับชาติ รวมถึงมาตรการจูงใจภาคเอกชนในการร่วมพัฒนาศักยภาพแรงงาน ขณะที่ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ประเทศไทยยังผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ซึ่งครอบคลุมการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมีความรับผิดชอบ หรือเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 14 (SDG 14)
น.ส.ศุภมาส ยังกล่าวอีกว่า ในเวทีระหว่างประเทศ ประเทศไทยยังคงส่งเสริมและยกระดับความร่วมมือระดับโลกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความร่วมมือล่าสุดเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีอวกาศอย่างสันติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 17 (SDG 17) และสำหรับปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) ที่กำลังใกล้เข้ามา ตนในนามผู้แทนประเทศไทยขอเชิญชวนประชาคมโลกเร่งเสริมสร้างความร่วมมือ ยกระดับนวัตกรรม และขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อไม่ให้ใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยประเทศไทยพร้อมร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมสำหรับโลกหลังยุคเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเชื่อมั่นว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจะยังคงเป็นพลังสำคัญในการนำพาโลกไปสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้น
“การเข้าร่วมเวที STI Forum 2025 ของประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงบทบาทเชิงรุกของประเทศในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม และสะท้อนถึงบทบาทที่เข้มแข็งของไทยในเวทีโลก โดยไม่เพียงแต่เสนอแนวปฏิบัติของไทยเท่านั้น หากยังร่วมมือกับนานาประเทศในการผลักดันนโยบาย วิสัยทัศน์ และนวัตกรรมที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับระบบ โดยสอดคล้องกับแนวทางของ Pact for the Future ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อความเป็นธรรม ความเท่าเทียม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” น.ส.ศุภมาส กล่าว
สำหรับเวที STI Forum จัดตั้งขึ้นจากข้อเสนอของ Addis Ababa Action Agenda และ 2030 Agenda for Sustainable Development เพื่อเป็นกลไกการอำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยี (Technology Facilitation Mechanism – TFM) ให้กับประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เวทีนี้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างวิทยาศาสตร์กับนโยบาย และได้กลายเป็นศูนย์กลางความร่วมมือของรัฐบาล ภาคเอกชน นักวิทยาศาสตร์ และภาคประชาสังคมจากทั่วโลก
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.