8 พฤษภาคม 2568 - สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และบริษัท อินทรอนิคส์ จำกัด ร่วมกันแถลงผลงานความสำเร็จในการพัฒนา “เครื่องวิเคราะห์การทำงานเครื่องช่วยหายใจ รุ่น VA-01” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ฝีมือคนไทย ถือเป็นผลสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่เน้นงานวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อผลิตเครื่องมือวัดทางการแพทย์คุณภาพสูงในราคาที่เข้าถึงได้ การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ดังกล่าวเป็นการดำเนินงานภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต โดยมี สศอ.เป็นหน่วยงานเจ้าภาพ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น
เครื่องวิเคราะห์การทำงานเครื่องช่วยหายใจ รุ่น VA-01 มีจุดเด่นด้านความแม่นยำในการวิเคราะห์การทำงานของเครื่องช่วยหายใจในโรงพยาบาล ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน และสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องช่วยหายใจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ที่พัฒนาขึ้นตามมาตรฐานสากลทั้ง ISO 80601-2-12 และวิธีการมาตรฐานสำหรับเครื่องมือแพทย์: SMM 04-1: วิธีการสอบเทียบเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยวิกฤติ นอกจากนั้น การผลิตยังมีต้นทุนต่ำ ราคาถูกกว่านำเข้า 3 เท่า อีกทั้งยังสามารถปรับการทำงานได้ตามความต้องการของแพทย์ผู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ผศอ.) เปิดเผยว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สศอ. ได้ขับเคลื่อนโครงการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ของไทย ลดต้นทุนการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ ยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ และสร้างความมั่นคงให้กับระบบสาธารณสุขของไทย ซึ่งมีการดำเนินโครงการไปแล้วรวม 16 โครงการ ด้วยงบประมาณ 307 ล้านบาท สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท โดยในปี 2568 นี้ สศอ. จะกำลังเดินหน้าอีก 7 โครงการ งบประมาณ 99 ล้านบาท และจะขยายผลการดำเนินงานไปยังส่วนอื่น ๆ ด้วย อาทิ การจับคู่ธุรกิจ (Business matching) ระหว่างงานนวัตกรรมโครงการหรือบริษัทกับนักลงทุน เพื่อการต่อยอดและขยายงานนวัตกรรมเชิงอุตสาหกรรมสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์และสังคม ตลอดจนส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ไทยได้รับการรับรองมาตรฐาน CE ซึ่งเป็นมาตรฐานในระดับสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้งานเครื่องมือแพทย์ อันจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ไทยในการขยายตลาดภายในประเทศ และเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสู่ตลาดสหภาพยุโรปหรือต่างประเทศอีกด้วย
พลตำรวจโท นายแพทย์ พรชัย สุธีรคุณ ผู้อำนวยการ มว. กล่าวเสริมว่า พันธกิจหลักของ มว. คือ การพัฒนาระบบมาตรวิทยาของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในอนาคต ทำให้ มว. ตระหนักดีว่านวัตกรรมทางการแพทย์ จะช่วยเพิ่มผลิตภาพและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ได้อย่างยั่งยืน จึงได้ดำเนินโครงการสร้างศักยภาพการแข่งขันอุตสาหกรรมทางการแพทย์ด้วยมาตรฐานการวัด ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 เป็นต้นมา โดยร่วมมือกับเครือข่ายวิชาการมาตรวิทยาทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือแพทย์ในประเทศ อันจะช่วยสร้างจุดแข็ง ลดจุดอ่อนของผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ของไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันกับผู้ผลิตต่างชาติ ซึ่ง บริษัท อินทรอนิคส์ จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทสัญชาติไทยที่มีศักยภาพใน การวิจัย พัฒนา และมีกระบวนการผลิตที่ทันสมัยเป็นของตนเอง อีกทั้งยังมีวิสัยทัศน์และประสบการณ์ด้านเครื่องมือแพทย์ มีความเข้าใจถึงปัญหาและอุปสรรคในการผลิตและจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ในประเทศเป็นอย่างดี โดยเบื้องหลังความสำเร็จนี้ ต้องขอบคุณเครือข่ายหน่วยงานร่วมทดสอบ อันประกอบด้วย บริษัท อาร์ เอฟ เอส จำกัด ภายใต้การกำกับดูแลของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์, โรงพยาบาลนครพิงค์, โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และบริษัท แมส เมดิคอล แอดวานส์ เซอร์วิส จำกัด ที่ร่วมกันสนับสนุนและผลักดันให้เครื่องมือวัดต้นแบบนี้ สามารถต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายชัยสิทธิ์ ธรรมพีร ประธานกรรมการ บริษัท อินทรอนิคส์ จำกัด ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจว่า “บริษัทเริ่มต้นจากความเชื่อว่า คนไทยสามารถพัฒนาเครื่องมือวัดทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูงได้เอง จึงเริ่มต้นจากการวิจัยเล็ก ๆ จนปัจจุบันสามารถพัฒนาเครื่องวิเคราะห์การทำงานเครื่องช่วยหายใจ รุ่น VA-01 ได้เป็นผลสำเร็จ การที่บริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจาก สศอ. และ มว. ทำให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน สามารถรองรับการใช้งานได้จริงในโรงพยาบาล และกำลังเตรียมพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องมือวัดทางการแพทย์ชนิดอื่นที่ตอบโจทย์ทางการแพทย์ในอนาคตมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังมีแผนผลักดันผลิตภัณฑ์สู่ตลาดต่างประเทศ ด้วยการมีมาตรฐานสากลยอมรับ และเจรจากับพันธมิตรในเอเชียและยุโรป เพื่อสร้างแบรนด์เครื่องมือแพทย์ “Made in Thailand” ที่มีคุณภาพระดับโลก”
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผศอ. กล่าวทิ้งท้ายว่า “จากความสำเร็จในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถขยายตลาดไปยังโรงพยาบาลทั่วโลก และสามารถพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีสุขภาพได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งช่วยตอกย้ำความมั่นใจว่าเครื่องมือวัดทางการแพทย์สายพันธุ์ไทย จะไม่เพียงแค่เป็นเครื่องมือในการรักษา แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในทั่วโลกอีกด้วย”
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.