เมื่อวันที่ 8 พ.ค. นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อววน. ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี พร้อมมอบนโยบายการขับเคลื่อน อววน. สู่ชุมชนจังหวัดปทุมธานีตามยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บัวแห่งบ้านราชมงคลธัญบุรี โครงการตามแนวพระราดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเยี่ยมชม Aircraft Maintenance Facilities หลักสูตร “อิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน” ภายใต้การบริหารจัดการของศูนย์สถาบันการบินแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมี นายองค์รักษ์ ทองนิรมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด รักษาราชการในตำแหน่งอธิการบดี มทร.ธัญบุรี พลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี พร้อมทั้งผู้บริหารหน่วยงานกระทรวง อว. หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดปทุมธานี อาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วม ณ หอประชุมราชมงคล มทร.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
นายศุภชัย กล่าวว่า กระทรวง อว. มีภารกิจสำคัญในการเตรียมคนไทยให้พร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 และใช้องค์ความรู้ วิจัย และนวัตกรรม สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบให้กับประเทศ เรามุ่งเน้นการทำงานร่วมกันแบบเครือข่ายและใช้นโยบายเชิงนวัตกรรม เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางของการแก้ปัญหาและสร้างโอกาสใหม่ให้กับชุมชนอย่างแท้จริง จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุดมศึกษา 3 ด้านหลัก ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพคน (Capacity Building) มุ่งเน้นการผลิตกำลังคนตามความต้องการของประเทศ การฝึกอบรมทักษะอาชีพ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกช่วงวัย การส่งเสริมระบบนิเวศวิจัยอุดมศึกษา (Research Ecosystem Building) สนับสนุนความร่วมมือในการวิจัยและบริการวิชาการ การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และการสร้างผู้ประกอบการใหม่ และ การจัดระบบอุดมศึกษาใหม่ (Higher Education Transformation) มุ่งเน้นธรรมาภิบาล การยกระดับบุคลากร และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
ผู้ช่วย รมว.อว. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อว. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดงาน โดยเชื่อมโยงสถาบันการศึกษากับภาคการผลิตและบริการ ผ่านกลไกการจับคู่จ้างงาน การพัฒนาทักษะระยะสั้นและยาว และการออกแบบหลักสูตรเฉพาะ สำหรับการส่งเสริมระบบนิเวศด้านการวิจัยและนวัตกรรม อว. ได้ผลักดันโครงการสำคัญ เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ บริษัทโฮลดิ้งของมหาวิทยาลัย และการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์และสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแท้จริง โดยมีพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 เป็นกลไกสำคัญในการปลดล็อกงานวิจัยไทยสู่การใช้งานจริงในระดับพื้นที่ ทั้งยังมุ่งมั่นในการยกระดับมหาวิทยาลัยไทยสู่ความเป็นนานาชาติ ผ่านการจัดตั้งศูนย์กลางการศึกษาและกำลังคนระดับสูง (Education & Talent Hub) การสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก และการพัฒนาหลักสูตรที่ยืดหยุ่น ทันสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ อีกหนึ่งกลไกสำคัญคือ กองทุนพัฒนาการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งไม่ใช่แค่การให้ทุน แต่เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนระบบอุดมศึกษาไทยให้มีความเป็นเลิศ ผลิตกำลังคนเฉพาะทาง และยกระดับการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยให้สามารถเป็น “พาร์ตเนอร์ของพื้นที่”
“การพัฒนาเชิงพื้นที่ อว. ได้สร้างระบบการทำงานที่เชื่อมโยงตั้งแต่ระดับนโยบายส่วนกลางไปจนถึงสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยเน้นความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็น “พลังเปลี่ยนพื้นที่” อย่างแท้จริง เป้าหมายสูงสุดของเราคือ การผลิต “คน” ที่พร้อมจะอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลง มีทักษะอนาคต ความรู้ที่ใช้ได้จริง และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน” ผู้ช่วย รมว.อว. กล่าว
จากนั้นได้เยี่ยมชมบูธนิทรรศการ/ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาและยกระดับด้วย อววน. จากมหาวิทยาลัย กว่า 30 บูธ ทั้งเครือข่ายผู้ประกอบการ/วิสาหกิจชุมชน/SME/ภาคเอกชน/หน่วยงานในสังกัด อว. ประกอบด้วยนิทรรศการจาก มทร.ธัญบุรี ได้แก่ ผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลการประกวดในเวทีระดับนานาชาติ ผลงานที่ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรและสิทธิบัตร (IP) ผลงาน Innovative Start Up (UBI RMUTT) ตลาดวิถีไทยใจกลางวิทยาศาสตร์ กิจกรรมตรวจสุขภาพเคลื่อนที่สร้างสังคมสุขภาพดี และศูนย์ความเป็นเลิศด้าน Human and Business Development นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการจาก มรภ.วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นิทรรศการจากเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยี ม.ธรรมศาสตร์ นิทรรศการจากหน่วยงานในสังกัด อว. (วว./NIA/สทน.) และนิทรรศการจากสถาบัน Wellness x Academy พร้อมรับชมวีดิทัศน์สถาบันวิจัยและพัฒนา การแสดงศิลปะการแสดงรำไทยประยุกต์ชุดนวัตภูษา (ผ้า) ใยกล้วย โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ และนำเสนอผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่านชุดการแสดงแฟชั่นโชว์ โดยคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์
ช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ ผู้ช่วย รมว.อว.และคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บัวแห่งบ้านราชมงคลธัญบุรี โครงการตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดนิทรรศการแสดงผลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก “ดอกบัว” อาทิ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื้อ การปรับปรุงสายพันธุ์บัว ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสเต็มเซลล์จากบัวฉลองขวัญ เครื่องดื่มบัวเข้มข้นป้องกันอาการสมองเสื่อม เครื่องดื่มชาหมักกลีบบัวสาย/ผลิตภัณฑ์น้ำรากบัวผงเสริม โปรไบโอติคสำเร็จรูปโดยวิธีทำแห้ง แบบโฟมแมท และร่วมกิจกรรม Workshop การทำผ้า Eco Print พิมพ์ลายบัว จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านพรพิมาน การวาดภาพโดยใช้สีจากบัว และการชงชาจากเกษรบัว จากนั้นเดินทางต่อไปยังศูนย์สถาบันการบินแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อเยี่ยมชม Aircraft Maintenance Facilities หลักสูตร “อิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน” ร่วมกิจกรรม Workshop สาธิตภาคปฏิบัติการถอด ประกอบ ตรวจเช็ค ใบพัดเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ สาธิตการสตาร์ทเครื่องยนต์เครื่องบินขนาดเล็ก สาธิตการจำลองการซ่อมบำรุงอากาศยานเครื่องบิน Airbus และรับชมต้นแบบห้องเครื่องอากาศยานเสมือนจริงในห้องปฏิบัติการควบคุมจราจรทางอากาศ (Simulation room)
ข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ถ่ายภาพ : นายสุรกิจ แก้วมรกต และ นางสาวปาลิตา ตระกูลพานิชย์กิจ
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.