ตอนนี้ไม่ว่าเมืองไหนในโลกต่างก็ตั้งเป้าสู่การเป็น ‘Smart City’ เมืองที่ผ่านการพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้อยู่อาศัย เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน แต่เมื่อหันกลับมามองประเทศไทยในช่วงเวลานี้ การจะก้าวสู่ Smart City คงไม่ใช่เรื่องง่าย หากการแจ้งความต้องการหรือปัญหาเกี่ยวกับเมืองให้ผู้ดูแลรับผิดชอบยังทำได้ยาก เสียเวลา และเสียค่าใช้จ่าย
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตระหนักถึงความลำบากของประชาชนในการแจ้งความต้องการหรือปัญหาไปยังหน่วยงานผู้ดูแลพื้นที่ต่างๆ และเข้าใจถึงอุปสรรคในการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการสำรวจปัญหาเมือง จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Traffy Fondue เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับแจ้งปัญหา พร้อมทั้งส่งตรงถึง ‘หน่วยงานผู้รับผิดชอบ’ ช่วยให้เจ้าหน้าที่แก้ปัญหาได้รวดเร็ว ปัญหาไม่ลุกลาม ตรงตามความต้องการของประชาชน ที่สำคัญตรวจสอบได้
ประชาชนแจ้งปัญหาเมืองได้ง่ายผ่านสมาร์ตโฟน
สภาพปัญหาเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละวันทั้งถนนชำรุด ไฟฟ้าไม่ส่องสว่าง ทางเท้าไม่สะอาด ฝาท่อน้ำถูกเปิดทิ้งไว้ โรงงานส่งกลิ่นเหม็น ฯลฯ แจ้งปัญหาที่พบเพื่อร่วมกันพัฒนาเมืองได้ง่ายๆ ผ่าน Traffy Fondue ไม่ต้องมีเบอร์หน่วยงาน ไม่ต้องเสียเวลา ค่าโทรศัพท์ และค่าเดินทาง
ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม เนคเทค สวทช
ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม ทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (ITS) เนคเทค สวทช. อธิบายว่า Traffy Fondue เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางระหว่างประชาชนกับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ ทำหน้าที่รับแจ้งปัญหา (Ticketing system) ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ (Line) ซึ่งมีระบบแชตบอต (Chatbot) หรือระบบตอบอัตโนมัติในการสอบถามรายละเอียดของปัญหาและข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็น อาทิ ตำแหน่งที่ตั้งและภาพถ่ายของปัญหา จากนั้น AI จะทำหน้าที่วิเคราะห์ปัญหานั้นๆ แล้วจัดส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแบบเรียลไทม์ โดยผู้ดูแลรับผิดชอบปัญหาสามารถส่งรายงานความคืบหน้าการแก้ไขให้ประชาชนรับทราบผ่านระบบด้วยเช่นกัน
“สำหรับปัญหาเมืองที่ประชาชนสามารถแจ้งผ่าน Traffy Fondue มี 16 ด้านหลัก คือ ไฟฟ้า/แสงสว่าง ประปา จราจร/รถยนต์ ถนน ทางเท้า ระบบสื่อสาร กลิ่น เสียง ความสะอาด ความปลอดภัย ต้นไม้สาธารณะ อาคารชำรุด วัสดุชำรุด ห้องประชุม ระบบปรับอากาศ และสัตว์ ซึ่งหากจุดที่เกิดเหตุยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบลงทะเบียนไว้ในแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ระบบจะดำเนินการแจ้งให้ผู้แจ้งเหตุรับทราบโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้แจ้งดำเนินการแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการใช้ Traffy Fondue อย่างแพร่หลายแล้วในหลายพื้นที่ของหลายจังหวัด เช่น ในจังหวัดอุบลราชธานี ปทุมธานี และชลบุรี”
Traffy Fondue ใช้งานง่าย ไม่มีมีค่าใช้จ่าย และไม่ต้องเปิดเผยตัวตน เพียงประชาชนเข้าแอปพลิเคชันไลน์ แล้วเพิ่มเพื่อน ID @traffyfondue หรือคลิก https://lin.ee/nwxfnHw ก็จะสามารถพิมพ์แจ้งปัญหาได้ทันทีที่หน้าแชต เช่น พิมพ์แจ้งว่า ‘พบปัญหาถนนชำรุด’ หรือ ‘ได้กลิ่นสารเคมี’ เป็นต้น ระบบจะสอบถามรายละเอียดที่จำเป็นเพิ่มเติมโดยอัตโนมัติ หลังจากแจ้งปัญหาแล้ว ผู้แจ้งสามารถติดตามการแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่ได้ผ่านหน้าแชตเดิม รวมถึงประเมินความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหาได้อีกด้วย
ดร.วสันต์ กล่าวว่า ในส่วนของหน่วยงานผู้ดูแลรับผิดชอบอาคารสถานที่หรือเมืองทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถใช้บริการระบบ Traffy Fondue เพื่อรับแจ้งปัญหาได้ง่ายและไม่มีค่าใช้จ่ายเช่นกัน เพียงลงทะเบียนพื้นที่และความรับผิดชอบผ่านแอปพลิเคชัน Traffy Fondue (ดูรายละเอียดวิธีการสมัครได้ที่ https://bit.ly/3qfJAXQ) ก็จะรับแจ้งปัญหาหรือความต้องการจากประชาชนได้ทันที โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยรับแจ้งและสอบถามรายละเอียดปัญหา เพราะระบบ Traffy Fondue จะสอบถามรายละเอียดสำคัญมาให้อย่างครบถ้วนโดยอัตโนมัติ
“ทั้งนี้เจ้าหน้าที่สามารถตั้งค่าแสดงสถานะการดำเนินการแก้ปัญหาพร้อมรายละเอียดให้ผู้แจ้งได้รับทราบผ่านแอปพลิเคชัน และตรวจสอบสถิติการรับแจ้ง ความรวดเร็วในการแก้ปัญหา และความพึงพอใจจากผู้แจ้งได้ผ่าน Dashboard ระบบนี้จะช่วยลดขั้นตอนการทำงาน ลดโอกาสการลุกลามของปัญหา และยังได้รับความประทับใจในการเข้าถึงและจัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็วจากประชาชน นอกจากนี้ผู้บริหารยังสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพและความโปร่งใสการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาได้ง่าย อีกทั้งสามารถนำฐานข้อมูลไปใช้ในการบริหารหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ใช้ระบบ Traffy Fondue ในการรับแจ้งปัญหาแล้วเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วยเทศบาล 357 แห่ง อบต. 350 แห่ง หน่วยงานสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 96 หน่วยงาน นิคมอุตสาหกรรม 12 แห่ง และยังมีหน่วยงานที่ใช้ระบบนี้ในการรับแจ้งปัญหาอาคาร สถานที่ หรือปัญหาประเภทอื่นๆ อีกมากกว่า 600 หน่วยงาน ซึ่งล่าสุดเนคเทคได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำหรับขยายผลการใช้งานระบบ Traffy Fondue ไปสู่เทศบาลและ อบต. ทั่วประเทศภายใน 2 ปีข้างหน้า เพื่อหนุนเสริมการยกระดับประเทศไทยสู่การเป็น Smart City
ดร.วสันต์ เสริมว่า ด้วยความง่าย สะดวก และรวดเร็ว ทำให้ Traffy Fondue ได้รับผลตอบรับที่ดีทั้งจากฝั่งประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประชาชนร้อยละ 89 มีความพึงพอใจในการใช้งาน เพราะช่วยลดเวลาในการแจ้งปัญหาได้เฉลี่ย 65 นาที และลดค่าใช้จ่ายในการแจ้งปัญหาได้เฉลี่ย 79 บาท ต่อการแจ้งปัญหา 1 ครั้ง ทางด้านหน่วยงานที่รับผิดชอบร้อยละ 81 มีความพึงพอใจในการใช้งานระบบ เพราะแก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้น เฉลี่ย 6.2 ชั่วโมงต่อเรื่อง และช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยงานต่างๆ ที่ใช้บริการรวมแล้วมากกว่า 42.45 ล้านบาท
“นอกจากจุดแข็งของแพลตฟอร์มที่กล่าวถึงในข้างต้นแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ทีมวิจัยให้ความสำคัญในการพัฒนาไม่แพ้กันคือ ‘ความยั่งยืน’ ทีมวิจัยจึงได้ออกแบบให้ระบบ Traffy Fondue จัดเก็บข้อมูลและประมวลผลการทำงานผ่านระบบคลาวด์ ซึ่งนอกจากช่วยให้ประมวลผลได้แบบเรียลไทม์แล้ว ยังเอื้อให้ขยายพื้นที่ในการจัดเก็บและพัฒนาความฉลาดให้กับระบบประมวลผลได้อยู่เสมออีกด้วย ทำให้ระบบมีความพร้อมให้บริการในระยะยาว”
ด้วยจุดแข็งทั้งหมดนี้ทำให้แพลตฟอร์ม Traffy Fondue เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2564 รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาครัฐ
Traffy Fondue รองรับความต้องการของเมืองที่หลากหลาย
แพลตฟอร์ม Traffy Fondue ไม่ได้มีดีแค่การรับแจ้งปัญหาหลักของเมืองที่ครอบคลุมถึง 16 ด้าน แต่ด้วยการออกแบบระบบให้มีความยืดหยุ่นสูง จึงสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของ Traffy Fondue ให้สอดคล้องกับสถานการณ์หรือความต้องการของผู้รับแจ้งได้อีกด้วย
ดร.วสันต์ ยกตัวอย่างสำคัญในการปรับระบบ Traffy Fondue ให้สามารถรับแจ้งปัญหาเร่งด่วนของประเทศได้ เช่น ในปี 2563 ช่วงเริ่มต้นการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย กระทรวงมหาดไทยได้ใช้บริการระบบ Traffy Fondue ในการเปิดให้บริการรับแจ้งความเสี่ยงในการติดโควิด-19 แจ้งขอความช่วยเหลือให้ผู้ป่วยที่ติดโรค แจ้งเรียกรถพยาบาล แจ้งส่งต่อผู้ป่วย แจ้งจองคิวการตรวจโรค รวมถึงแจ้งเบาะแสให้ตรวจสอบพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการติดหรือแพร่กระจายโรค
“นอกจากการเพิ่มฟังก์ชันเฉพาะกิจเพื่อรับแจ้งเหตุด่วนแล้ว ทีมวิจัยยังเปิดให้บริการวิจัยและออกแบบแพลตฟอร์มเพื่อรับแจ้งปัญหาเฉพาะทางของแต่ละหน่วยงาน ตัวอย่างการให้บริการที่ผ่านมา เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์ม Traffy Fondue เพื่อใช้ในการรับแจ้งและบริหารจัดการเหตุสาธารณภัย ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผ่านไลน์ ID @1784DDPM โดยประชาชนสามารถแจ้งภัยได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งภัยแล้ง วาตภัย ภัยหนาว ไฟป่า อัคคีภัย แผ่นดินไหว ดิน/โคลนถล่ม อาคารถล่ม/ทรุด ภัยจากการก่อความไม่สงบ/วินาศภัย ภัยทางถนน ฯลฯ อีกตัวอย่างที่สำคัญคือการใช้เป็นแพลตฟอร์มรับแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนของรัฐบาล ซึ่งประชาชนสามารถทั้งร้องทุกข์ เสนอข้อคิดเห็น และติชมการทำงานได้ผ่านไลน์ ID @psc1111 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน”
แพลตฟอร์ม Traffy Fondue เกิดขึ้นจากการผสานการทำงานของ 2 เทคโนโลยีหลัก คือ Geographical Information System (GIS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเพื่อการจัดเก็บรายละเอียดข้อมูล ตำแหน่งของสถานที่ รวมถึงรูปภาพของสถานที่ และเทคโนโลยี AI ซึ่งทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูล Big Data ออกมาเป็นข้อมูลที่พร้อมใช้งาน รวมถึงการมีจุดแข็งที่การมีแพลตฟอร์มให้ประชาชนทั่วไปใช้งานได้ง่าย ทำให้สามารถประยุกต์ใช้งานแพลตฟอร์ม Traffy Fondue เพื่อส่งเสริมการเป็น Smart City ในด้านอื่นๆ ให้กับประเทศได้อีกหลากหลาย
ดร.วสันต์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ล่าสุดในปีที่ผ่านมาทีมวิจัยได้นำแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ไปปรับใช้กับการพัฒนายกระดับ Smart City ในด้านสุขภาวะของคนพิการและผู้สูงวัย โดยร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการทำแพลตฟอร์ม ‘เมืองใจดี เที่ยวได้ทุกวัย’ เพื่อใช้ขึ้นทะเบียนสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่มีความต้องการใช้สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก และผู้ป่วย ประชาชนสามารถช่วยกันระบุรายละเอียดที่สำคัญ เช่น ประเภทของสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ที่จอดรถ ห้องน้ำ และทางลาด ฯลฯ จำนวนและตำแหน่งของสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงช่วยกันประเมินว่าสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านั้นได้มาตรฐานหรือไม่ และควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร โดยฐานข้อมูลนี้จะนำไปสู่การพัฒนายกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ที่มีความต้องการใช้งานเข้าถึงข้อมูลตำแหน่งของสิ่งอำนวยความสะดวกได้ง่ายและรวดเร็วต่อไปในอนาคต รวมถึงเป็นการช่วยสนับสนุนการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัจจุบันการทำงานของแพลตฟอร์มนี้อยู่ในระยะที่ 1 คือการขึ้นทะเบียนสิ่งอำนวยความสะดวก เจ้าของอาคารสถานที่หรือผู้ที่พบเห็นสิ่งอำนวยความสะดวกสามารถร่วมขึ้นทะเบียนได้ที่ไลน์ ID @jaideecity ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เมืองใจดี เที่ยวได้ทุกวัย
ดร.วสันต์ ทิ้งท้ายว่า เนคเทค สวทช. พร้อมให้บริการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ในรูปแบบเฉพาะที่หน่วยงานต้องการ ติดต่อขอรับบริการได้ที่ไลน์ ID @fonduehelp หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Traffy Fondue ได้ที่ www.traffy.in.th
คำว่า ‘Smart City’ จะไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับเมืองไทยอีกต่อไป ร่วมกันยกระดับ ‘หน่วยงาน’ ของคุณให้ ‘สมาร์ต’ จัดการปัญหาได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพด้วยแพลตฟอร์ม Traffy Fondue และคุณก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเมืองให้น่าอยู่ขึ้นได้ง่ายๆ เพียงหยิบมือถือมาแอดไลน์ @traffyfondue แล้วบอกเราว่าคุณเจอปัญหาเมืองที่ตรงไหน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.