ดร.จิตรา ชัยวิมล รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผศ.ดร.กฤษณ์ วันอินทร์ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและพันธกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “เพื่อการวิจัยและพัฒนา ด้านพลังงานสะอาดและนวัตกรรมยานยนต์สมัยใหม่” โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โอกาสนี้ ดร.อาณัติ หาทรัพย์ ผอ.ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) ดร.สุวิทย์ อัจริยะเมต ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ นายจิรวัฒน์ วัฒนบุตร ผอ.กองบริการธุรกิจและนวัตกรรม พร้อมนักวิชาการและบุคลากรทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดีด้วย ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ
วัตถุประสงค์ในความร่วมมือ มีดังนี้ 1) เพื่อวิจัยและพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยียานยนต์พลังงานสะอาดที่ยั่งยืน เช่น Fuel Dell Electric Vehicle (FCEV) , Hydrogen Combustion Engine (HCE) และระบบที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงพลังงานสะอาด เช่น ระบบการขนส่งพลังงาน ระบบการจ่ายพลังงานและสถานีเติมพลังงาน และส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศให้มีศักยภาพในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์พลังงานสะอาดได้อย่างยั่งยืน 2) วิจัยและพัฒนาเครืองมือ วิธีการทดสอบและตรวจสอบต้นแบบเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการใช้งานให้สอดคล้องกับสภาพการใช้งานยานยนต์ของประเทศในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ 3) ร่วมกันพัฒนาและสนับสนุนบุคลากรของทั้งสองฝ่าย ในการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีการวิจัย และด้านมาตรฐานการทดสอบ
ปัจจุบันประเทศไทยให้ความสนใจกับการพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก การลดการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลก โดยเทคโนโลยียานยนต์แบตเตอรี่ (Electric Vehicle : EV) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและแพร่หลาย อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีดังกล่าว ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในด้านพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ด้านเชื้อเพลิง พลังงานทางเลือก พลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (พลังงานไฮโดรเจน) มากขึ้นในประเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จึงร่วมมือบูรณาการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ให้ยั่งยืน
รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ โดยเฉพาะการวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวของกับพลังงานสะอาด และมุ่งมั่นในการสร้างเทคโนโลยีที่สามารถลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลและช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานไฮโดรเจน พลังงานจากไฟฟ้า พลังงานจากชีวมวล และพลังงานลม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน
รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม กล่าวว่า วว. เป็นหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทในการวิจัยพัฒนาและบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่ภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน ผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบ รับรองระบบคุณภาพ อบรมและที่ปรึกษา เพื่อยกระดับมาตรฐานและความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม โดย วว. มีการพัฒนา ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง ที่ดำเนินงานด้านการทดสอบ ตรวจสอบ รับรอง และวิจัยพัฒนาด้านเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ มีความพร้อมในด้านห้องปฏิบัติการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปขยายผลเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศต่อไป
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.