เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เวลา 9.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำ พล.ต.ท.นพ.พรชัย สุธีรคุณ ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและพนักงานสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลผดุงมาตร (ใบประกาศเกียรติคุณด้านการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ) เนื่องในโอกาสที่สถาบันได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านมาตรวิทยา ครั้งที่ 1 (The 1st International Conference on Measurement Sciences and Applications; IMSA 2024) เพื่อยกย่องพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนการวิจัยนาฬิกาอะตอมเชิงแสง และมาตรฐานการวัดเชิงควอนตัมเพื่อเป็นมาตรฐานการวัดแห่งชาติ รวมถึงเพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ท่านที่ทรงมีพระวิสัยทัศน์ พระเมตตา และทรงพระกรุณาสนับสนุนผลักดันการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของสถาบันตลอดมา จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการเรื่อง Quantum Measurement Standards เพื่อรับทราบความก้าวหน้าในการพัฒนามาตรฐานการวัดเชิงควอนตัมในประเทศไทย ณ วังสระปทุม เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ “รางวัลผดุงมาตร” ที่สถาบันทูลเกล้าฯ ถวายนี้ ประกอบด้วย
1.) ใบประกาศเกียรติคุณแบบดิจิทัล (Digital Award Certificate) รางวัลผดุงมาตร ครั้งที่ 1 ปีพุทธศักราช 2567 ที่สถาบันพัฒนาขึ้นร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) โดยไฟล์ต้นฉบับจะมีการเข้ารหัส (Data Encryption) เพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งถือเป็นต้นแบบของใบรายงานผลการสอบเทียบแบบดิจิทัล (Digital Calibration Certificate; DCC) ที่สถาบันกำลังดำเนินการพัฒนากระบวนการต่าง ๆ ในระบบมาตรวิทยาสู่รูปแบบดิจิทัล เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบอื่น ๆ ของภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมได้อย่างไร้ร้อยต่อ และจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ระบบอุตสาหกรรมโดยรวม
2.) แบบจำลอง “อุปกรณ์กักขังไอออนแบบเชิงเส้น (Linear Paul Trap)” ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่นักวิจัยของสถาบันได้สร้างและพัฒนาขึ้น เพื่อกักขังไอออนของธาตุ Ytterbium สำหรับการสร้างนาฬิกาอะตอมเชิงแสงด้วยไอออนของธาตุ Ytterbium ที่มีความแม่นยำสูงกว่านาฬิกาอะตอมซีเซียมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันหลายหมื่นเท่า และได้รับการคาดหมายว่าจะนำไปสู่การแก้ไขนิยามของ “วินาที (second; s)” ภายในปี 2573
“รางวัลผดุงมาตร” สื่อถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแก่วงการมาตรวิทยาไทย อีกทั้งยังทรงเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research Program) โดยสาขาเทคโนโลยีควอนตัมเป็นหนึ่งในสาขาแรกที่ได้รับการผลักดันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา ซึ่งสถาบันดำเนินการผ่านข้อตกลงความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนามาตรวิทยาเชิงควอนตัม กับศูนย์เทคโนโลยีควอนตัม ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ปัจจุบันทั้งสองประเทศอยู่ระหว่างดำเนินงานวิจัยและสร้างนาฬิกาอะตอมเชิงแสง และมีแผนงานที่จะทำการเปรียบเทียบเวลาจากนาฬิกาอะตอมทั้งสองโดยการส่งสัญญาณผ่านระบบดาวเทียมนำทางสากล หรือ GNSS (Global Navigation Satellite System) ในอนาคต นอกจากนั้น ความร่วมมือทางวิชาการภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวยังครอบคลุมการวิจัยด้านอื่นของเทคโนโลยีควอนตัมอีกด้วย อันเป็นคุณูปการต่อการดำเนินงานของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สถาบันจึงขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย “รางวัลผดุงมาตร” เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณให้ปรากฏ และเป็นสิริมงคลอันสูงสุดแก่สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมสืบไป
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. โดยสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่ใต้ฝ่าละอองพระบาท ทรงพระกรุณาสนับสนุนและผลักดันการดำเนินงานด้านต่างๆ ของสถาบันตลอดมา นับตั้งแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อ “ผดุงมาตร” และ “มาตรธำรง” ให้แก่อาคารห้องปฏิบัติการมาตรวิทยาสองหลังแรกของสถาบัน ในปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2561 ตามลำดับ และได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารผดุงมาตร ซึ่งเป็นอาคารห้องปฏิบัติการหลังแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการออกแบบเฉพาะเพื่อเก็บรักษามาตรฐานการวัดสูงสุดของประเทศ ที่ต้องอยู่ภายใต้สภาวะควบคุมที่เคร่งครัดตลอดเวลา เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2549
นางสาวศุภมาส กล่าวต่อว่า หลังจากที่เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารผดุงมาตรแล้ว ใต้ฝ่าละอองพระบาท ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังสำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ อย่างไม่เป็นทางการ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 เพื่อทรงรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับระบบหน่วยวัดระหว่างประเทศ หรือเอสไอ ในอนาคต ซึ่งจะนิยามจากค่าคงตัวทางฟิสิกส์ 7 ตัว แทนที่การนิยามหน่วยฐานแต่ละตัว รวมทั้งได้ทรงรับทราบแผนการสร้าง Kibble balance ที่สำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ เนื่องจาก Kibble balance จะเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดค่าคงตัวของพลังค์ (Planck constant) ซึ่งมีความสำคัญต่อนิยามใหม่ของ SI ทั้งระบบ นอกจากนี้ ใต้ฝ่าละอองพระบาท ยังทรงสนับสนุนการพัฒนาความสามารถทางวิชาการของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติตลอดมา โดยเฉพาะการวิจัยมาตรวิทยาขั้นมูลฐาน โดยเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยทางด้านเทคโนโลยีควอนตัม ระหว่างสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กับ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ โดยศูนย์เทคโนโลยีควอนตัม ซึ่งความร่วมมือด้านการวิจัยนี้เปิดโอกาสให้นักมาตรวิทยาได้เรียนรู้เทคนิคใหม่และเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยที่ไม่มีในประเทศ พร้อมกันนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติรายงานผลความก้าวหน้าในการพัฒนามาตรฐานการวัดด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ผ่านการเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ และในวันนิทรรศการวิชาการ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าอย่างต่อเนื่องทุกปี การถวายรายงานนี้เป็นหมุดหมายหนึ่งของการวิจัยและเป็นความภาคภูมิใจของนักมาตรวิทยาทุกคน
พล.ต.ท.นพ.พรชัย กล่าวว่า นิทรรศการเรื่อง Quantum Measurement Standards ดร.สิวินีย์ สวัสดิ์อารี หัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า และ ดร.ปิยพัฒน์ พูลทอง นักมาตรวิทยาชำนาญการพิเศษ ฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า เป็นผู้ถวายรายงานความก้าวหน้าในการพัฒนามาตรฐานการวัดเชิงควอนตัมในประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างดำเนินงานวิจัยและพัฒนา ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีควอนตัม มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ณ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ อันได้แก่ Yb+ Optical atomic clock, Josephson voltage standards, Quantum Hall resistance standards, Quantum impedance standard, Kibble balance, Josephson noise thermometer, Ultra stable frequency comb พร้อมกันนี้ ได้มีการถ่ายทอดภาพการทดลองที่แสดงสมบัติเชิงควอนตัมของมาตรฐานการวัดเชิงควอนตัม ซึ่งเป็นการถ่ายทอดสดจากห้องปฏิบัติการ ณ อาคารผดุงมาตร สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี ประกอบการถวายรายงานอีกด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.