
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of Artificial Intelligence (GFEAI 2025) ซึ่งในปี 2568 นี้ ประเทศไทย โดย 3 กระทรวงหลัก ได้แก่ อว. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เป็นเจ้าภาพในการจัดงานดังกล่าว โดยมี นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมทั้งมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง DE ผู้บริหารระดับสูงจากประเทศสมาชิกยูเนสโก จาก 104 ประเทศทั่วโลก นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ นักธุรกิจชั้นนำ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วม ณ ห้อง Bangkok Convention Centre ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์


นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ประเทศไทยมีแนวทางสำคัญ 3 ประการในการกำหนดทิศทางอนาคตของ AI ได้แก่ การส่งเสริมการใช้ AI เพื่อประโยชน์ของสังคม โดยเฉพาะในด้านเกษตรกรรม สาธารณสุข และการศึกษา การป้องกันการใช้ AI ในทางที่ผิด เช่น การสร้างข่าวปลอมหรือ Deepfake ที่บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือถือในสังคม การเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและการพัฒนา AI โดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง เพื่อสนับสนุนแรงงานไม่ใช่แทนที่แรงงาน โดยรัฐจะร่วมมือกับภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษาในการยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
"รัฐบาลไทยยังเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ชาติด้าน AI ภายใต้การกำกับของ "คณะกรรมการ AI แห่งชาติ" โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้ AI เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และหลักจริยธรรมที่เข้มแข็ง รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจาก AI ได้ไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาทภายในปี 2570 พร้อมส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้าถึงเทคโนโลยี AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพ และยกระดับความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก พร้อมกันนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการนำ AI ไปใช้ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะด้านการแพทย์ เกษตรกรรม และการศึกษา เพื่อให้เทคโนโลยีนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในทุกมิติอย่างแท้จริง" นายกรัฐมนตรีกล่าว
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีการหารือทวิภาคีกับ Ms. Audrey Azoulay (นางออเดรย์ อาซูเลย์) ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโก ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันในการตั้ง "ศูนย์ AI Governance Practice Center (AIGPC) หรือ ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ระดับภูมิภาค" เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามข้อเสนอแนะว่าด้วยจริยธรรม AI โดยเฉพาะในบริบทของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ความร่วมมือนี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศต่าง ๆ ในการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ ความร่วมมือนี้ยังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของภูมิภาคในการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เกิดจากการใช้ AI ในทางที่ผิด โดยเฉพาะการนำ AI มาใช้เพื่อหลอกลวงประชาชน เช่น การปลอมเสียงและใบหน้าผ่านเทคโนโลยี Deepfake การส่งข้อความหลอกลวงผ่านระบบอัตโนมัติ และการสนับสนุนขบวนการหลอกลวงทางโทรศัพท์ หรือ Call center ซึ่งล้วนเป็นภัยที่เกิดขึ้นจริงและแพร่กระจายรวดเร็วในหลายประเทศ ซึ่งการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนนี้ เป็นการสะท้อนว่าประเทศไทยพร้อมเดินหน้าร่วมกับประชาคมโลกอย่างมั่นคง บนเส้นทางของการพัฒนา AI ที่มีจริยธรรม โปร่งใส และยั่งยืน
ด้าน นายประเสริฐ กล่าวว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนา AI อย่างมีจริยธรรม ไม่ใช่เพียงแค่ในเชิงนโยบาย แต่เน้นการ "นำไปใช้จริง" โดยเฉพาะกับภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และการบริการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง โดยไทยยังได้ประเมินความพร้อมด้าน AI ผ่านเครื่องมือ UNESCO RAM (UNESCO Readiness Assessment Methodology) เพื่อให้เข้าใจสถานะปัจจุบันของประเทศอย่างเป็นระบบ พร้อมระบุจุดแข็ง จุดอ่อน และแนวทางปรับปรุงในมิติต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน นโยบายข้อมูล และทักษะบุคลากร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับบริบทของไทย

การประชุม The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of Artificial Intelligence (GFEAI 2025) จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 - 27 มิถุนายน 2568 เพื่อเป็นเวทีระหว่างประเทศในการส่งเสริมการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามแนวทางข้อเสนอแนะว่าด้วยจริยธรรมสำหรับปัญญาประดิษฐ์ของยูเนสโก (Recommendation on the Ethics of Artificial Intelligence) ซึ่งสมาชิกยูเนสโกทั้งหมด 194 ประเทศได้เห็นพ้องในการร่วมมือกันผลักดันตามข้อเสนอแนะฯ เมื่อปี 2564 รวมถึงเป็นการยกระดับบทบาทไทยในเวทีโลก ในการกำหนดนโยบายและมาตรฐานปัญญาประดิษฐ์ เสริมสร้างภาพลักษณ์ไทยเป็นผู้นำจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ของภูมิภาค กระตุ้นการแลกเปลี่ยนและพัฒนาองค์ความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ ส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชนมีความตื่นตัวกับจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นายธาตา กูลศรีโรจน์
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center