เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีปิดการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 11 (The 11th ASEAN Student Science Project Competition (ASPC 2025) โดยมี รศ.ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.ชนินทร วรรณวิจิตร รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) คณะกรรมการจัดงาน ASPC คณะผู้บริหาร อพวช. คณาจารย์ รวมทั้งนักเรียนที่ได้รับรางวัลการประกวดฯ เข้าร่วม ณ ห้องแสงเดือนแสงเทียน พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนอาเซียนในอนาคต ซึ่งการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนของเรานั้น เป็นสิ่งจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เยาวชนของชาติสามารถเผชิญกับความท้าทายในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งที่เราศึกษาจากตำราเรียน หรือห้องทดลองเท่านั้น แต่ยังหมายถึงโอกาสอันไม่สิ้นสุดที่เราจะได้สำรวจและค้นพบ รวมถึงผลกระทบเชิงบวกที่จะสามารถสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างยั่งยืน การแข่งขันในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่กิจกรรม แต่ยังเป็นเส้นทางของการเรียนรู้ การแบ่งปัน และการเติบโตของนักเรียนอาเซียนที่มีพรสวรรค์และมีศักยภาพ
ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลและผู้เข้าร่วมการแข่งขันทุกคน ความมุ่งมั่นและความพยายามของทุกคนล้วนแต่เป็นสิ่งที่น่าประทับใจ ขอขอบคุณครู อาจารย์ และคณะกรรมการผู้ตัดสินทุกท่านสำหรับคำแนะนำและการสนับสนุนเยาวชนมาโดยตลอด รวมทั้งขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกท่านของ อพวช. และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ร่วมกันจัดงานครั้งนี้จนประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์
“ขอให้ทุกท่านก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ด้วยจิตวิญญาณของอาเซียนและความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ชุมชน ผ่านการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วทั้งโลกและอาเซียนต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป” ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าว
การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 11 มีทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสต์ประยุกต์ โดยรางวัลชนะเลิศในแต่ละสาขา มีดังนี้ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ได้แก่ ประเทศไทย จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ในโครงงาน Development and optimization of magnetic adhesion wheels for pipe-climbing robots พัฒนาโดย นายเมธวิน จันทร์ทอง และนางสาวนิชานาถ ถาวรพานิช สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ ในโครงงาน Development of a novel diagnostic tool for antibody responses to vaccines พัฒนาโดย Mr.Aaron Jacob และสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ได้แก่ ประเทศไทย จาก โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร ใน โครงงาน AI-Based system for quality analysis and determinants of phon Yang Kham Beef for the industry พัฒนาโดย นายปฏิพล เจริญผล และนายพีรพัฒน์ พรมจันทร์
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.