เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดโครงการตามรอยพระราชา “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” ครั้งที่ 54 โดยมี ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภาศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม ที่ปรึกษา และอดีตนายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี ผู้แทนจากหน่วยงานราชการ คณะครูอาจารย์ กัลยาณมิตรมูลนิธิและแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วม ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
นายวันนี กล่าวว่า ศาสตร์พระราชา คือ องค์ความรู้และแนวคิดในการพัฒนาประเทศที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้แก่ประชาชนชาวไทย องค์ความรู้เหล่านี้ไม่เพียงเป็นแนวทางในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและความยากจนเท่านั้น แต่ยังเป็น “ปรัชญาการดำเนินชีวิต” ที่มุ่งเน้นความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุกมิติของสังคม
“ กระทรวง อว. เชื่อมั่นว่า ศาสตร์พระราชา คือ รากฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะเป็นศาสตร์ที่เน้นความเข้าใจในบริบทของพื้นที่ เคารพธรรมชาติ ใช้ความรู้ควบคู่คุณธรรม และสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง นี่คือแนวทางที่สามารถสร้างพลเมืองคุณภาพ และจะนำพาประเทศก้าวหน้า ไปได้อย่างมั่นคง การจัดโครงการในวันนี้ จึงมีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนและประชาชนได้เข้าถึงต้นแบบของศาสตร์พระราชาอย่างเป็นรูปธรรม ได้เรียนรู้จากสถานที่จริง บุคคลจริง และบริบทจริง ซึ่งจะช่วยปลุกพลังและจิตสำนึกในการเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ เข้าใจโลก เข้าใจสังคม และพร้อมจะพัฒนาตนเองเพื่อส่วนรวม” ผตร.อว. กล่าว
โครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 54 เป็นโครงการที่จัดขึ้นโดย ทิพยประกันภัย เพื่อตามรอยพระอัจฉริยภาพและหลักคิดเรื่อง “ความพอเพียง” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 งานจะจัดขึ้นที่ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 16-17 กรกฎาคม 2568 โดยกิจกรรมในโครงการจะเน้นการเรียนรู้ศาสตร์พระราชาผ่าน “หลอดยาสีพระทนต์” ที่ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความพอเพียง เรียบง่าย แต่ทรงคุณค่า จากนั้นจะเดินทางต่อไปยัง วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร เพื่อร่วมกิจกรรมจิตอาสาและฝึกปฏิบัติสมาธิ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางของการตามรอยพระราชา ที่ทรงเน้นย้ำเรื่อง “สติ” ในการดำเนินชีวิตและการทำงานอย่างมีเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Workshop ถอดรหัสนวัตกรรมศาสตร์พระราชา เรียนรู้ผ่านสื่อ Interactive Board Game หนึ่งเดียวในโลก เพื่อผลักดันให้เกิดนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด และเตรียมความพร้อมประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2030
ข่าว : นางสาวปาลิตา ตระกูลพานิชย์กิจ
ถ่ายภาพ : นายปวีณ ควรแย้ม
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.