เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานแถลงข่าวการแก้ไขปัญหาน้ำมั่นคง น้ำแล้ง น้ำท่วมระดับพื้นที่ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงหมาดไทยและกระทรวง อว. โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมเป็นประธานการประชุมคณะทำงานการขับเคลื่อนการดำเนินการความร่วมมือแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ เพื่อหารือแนวทางการจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการ การกำหนดพื้นที่ต้นแบบ แนวทางการทำงาน กลไกสนับสนุนการทำงาน และการประสานกับแหล่งสนับสนุนข้อมูลอื่น ๆ โดยมี ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองผู้อำนวยการ สกสว. ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ เลขานุการคณะทำงานฯ และผู้อำนวยการแผนงานเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ ววน. น้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง วช. คณะผู้บริหาร และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 14 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาคาร เอส.เอ็ม.ทาวเวอร์ กทม.
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า กระทรวง อว. พร้อมให้ความร่วมมือทางวิชาการอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนภารกิจหลักของกระทรวงมหาดไทยในการร่วมกัน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ ทั้งการวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการน้ำมาโดยตลอด ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานให้ทุน รวมถึงหน่วยงานที่มีพันธกิจด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกระทรวง อว. เช่น สป.อว. สสน. และหน่วยงานนอกกระทรวง อว. เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น รวมถึงผลักดันการนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้ได้ผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด ทั้งยังสนับสนุนเครือข่ายมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาน้ำในระดับพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ “ววน. เป็นเครื่องมือแก้จน” ให้คนไทยมีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอและเป็นต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “อว.เพื่อประชาชน” ของกระทรวง อว. อย่างแท้จริง ในช่วงวิกฤติของประเทศหลายพื้นที่เผชิญกับน้ำท่วมในปี 2567 อว. ได้ระดมนวัตกรรมไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก อาทิ โดรนสำรวจและลำเลียงอุปกรณ์ อาหาร ยาและเวชภัณฑ์ เรือกู้ภัย ถุงยังชีพ
นายอรรษิษฐ์ กล่าวว่า กลยุทธ์สำคัญในแผนปฏิบัติการกระทรวงมหาดไทยคือ “ยกระดับการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ” ซึ่งตัวชี้วัดเชิงยุทธศาสตร์ ได้แก่ ร้อยละความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การจัดการน้ำเสีย และการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติด้านน้ำ โดยมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานต่าง ๆ เป็นหน่วยสนับสนุน ความท้าทายในการรับมือกับสถานการณ์น้ำของประเทศไทยในปี 2568 ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะต้องบริหารเขื่อนและอ่างเก็บน้ำให้สามารถรองรับน้ำฝนได้มากขึ้น รวมทั้งขยายโครงสร้างพื้นฐาน เช่น แก้มลิง ที่สำคัญคือทุกภาคส่วนและประชาชนจะต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวเพื่อให้ประเทศไทยมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับกระทรวง อว. ในโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการติดตามสถานการณ์น้ำเพื่อเฝ้าระวังและรับมือภัยแล้ง-อุทกภัย ให้กับบุคลากรของ มท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนมั่นใจว่า มท.มีความพร้อมในการรับมือและการแก้ไขปัญหาน้ำมั่นคง น้ำแล้ง น้ำท่วมระดับพื้นที่ได้
ด้าน ศ.ดร.จักรพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายอย่างมาก สกสว. จึงรายงานความคืบหน้าในการเตรียมการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ของกระทรวงมหาดไทยและแผนงานรองรับ รวมทั้งการสนับสนุนด้านนวัตกรรมของกระทรวง อว. โดย สกสว. จะเป็นโซ่ข้อกลางประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนงานงานวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนแผนงานเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ ววน. เรื่อง “น้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง ใน 10 จังหวัด” ในปีงบประมาณ 2568 โดยมีสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยขับเคลื่อน
รศ.ดร.สุจริต กล่าวว่า จากการคาดการณ์รายฤดู แนวโน้มปีนี้จะมีฝนมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ส่วนช่วงเดือนกรกฎาคมจะมีฝนมากในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ และในช่วงเดือนสิงหาคม ฝนมากในภาคกลางและภาคใต้ และช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมในภาคใต้ นอกจากมาตรการรับมือทั้ง 9 ที่ สทนช. กำหนดแล้ว ทางชุมชนและท้องถิ่นในพื้นที่ควรเตรียมการดูแลภัยธรรมชาติอย่างมีข้อมูลและมีส่วนร่วม ขณะที่จังหวัดต้องมีแผนบูรณาการเพื่อการจัดการน้ำอย่างมีเป้าหมาย โดย อว.จะช่วยสนับสนุนด้านวิชาการ ข้อมูล รวมทั้งวางแผนการจัดการน้ำในเขตเมืองและจัดทำแผนบูรณการน้ำของจังหวัด ให้ลดภัย ลดเสี่ยงพร้อมมีมาตราการสร้างรายได้เสริมโดยใช้นวัตกรรมเข้าช่วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.